การดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำดื่ม

การดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำดื่ม

น้ำกับร่างกาย

  • ในภาวะปกติ ร่างกายของคนเรา จะประกอบด้วย น้ำประมาณ 55 ถึง 75 % โดยน้ำหนัก

  • ร่างกายต้องการน้ำประมาณ 1 1/2 ถึง 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ระบบต่างๆทำหน้าที่ได้ดีที่สุด

  • การหายใจออก เหงื่อที่ออกมา และการขับถ่าย ทำให้สูญเสียน้ำ 1 1/2 ลิตรต่อวัน

  • การออกแรงทำกิจกรรมหนึ่งชั่วโมงต้องดื่มน้ำชดเชย 1-3 แก้ว

  • ช่วงที่อากาศร้อน การเสียเหงื่อ ยิ่งทำให้ร่างกาย ต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

  • ช่วงอากาศเย็นร่างกายสูญเสีย ความชื้นเพิ่มขึ้นเมื่อหายใจออก

  • เครื่องทำความร้อนจะทำให้อากาศแห้ง จึงควร ดื่มน้ำมากขึ้น

  • ท่านต้องการน้ำเพิ่มประมาณ 1/2 ลิตรต่ออุณหภูมิ ที่เพิ่มขึ้นหนึ่งองศา


หน้าที่ของน้ำคืออะไร

  • ช่วยย่อยอาหารและดูดซึมอาหาร

  • ช่วยขับถ่ายของเสียออกจากลำไส้และไต

  • ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

  • หล่อลื่นข้อต่อและเนื้อเยื่อ

  • เลือดประกอบด้วยน้ำประมาณ 92 %

  • เลือดคือระบบขนส่งภายในร่างกายที่ส่งอาหารไป ให้ทั่วร่างกาย

  • น้ำต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำลายและน้ำย่อย ประกอบด้วยน้ำ เป็นส่วนใหญ่


ผลของการขาดน้ำ

สำหรับ ผู้ที่ออกกำลังกายกันเป็นประจำ มีโอกาสที่ร่างกายจะขาดน้ำได้เสมอ นักเรียนสามารถสังเกตอาการขาดน้ำของตนเองได้ง่ายๆ ได้แก่ รู้สึกปากแห้ง น้ำลายน้อย เป็นตระคริว ผิวแห้งกร้าน มีรอยคล้ำใต้ดวงตา ความดันเลือดต่ำ อ่อนเพลีย หน้ามืด วิงเวียนศรีษะ ท้องผูก ปัสสาวะมีสีเข้ม กระหายน้ำ เซื่องซึม เลือดไปเลี้ยงสมอง(มีผลต่อการเรียนรู้) และกล้ามเนื้อต่างๆลดลง เหนื่อยหงุดหงิด ปวดศรีษะ และอารมณ์เสียโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

ข้อแนะนำในการดื่มน้ำ

นอก จากการได้รับอาหารที่มีคุณค่าครบ ๕ หมู่แล้ว การได้ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่เพียงพอ มีความจำเป็นและสำคัญมากสำหรับคนที่ต้องออกกำลังกายและสูญเสียเหงื่อเป็น จำนวนมากในแต่ละวัน ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ ๖ – ๘ แก้ว การดื่มที่ถูกต้อง ไม่ใช่ดื่มครั้งละหลายๆแก้วในคราวเดียว แต่ ควรเฉลี่ยดื่มครั้งละ ๑ -๒ แก้ว แต่ดื่มบ่อยๆ ครั้ง และไม่ควรรีบดื่มเร็วๆ ให้ค่อยๆดื่ม ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกจุก นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มครั้งละมากๆในคราวเดียว เพราะร่างกายจะได้รับน้ำมากเกินไปจนขับออกไม่ทัน ทำให้เกิดอันตรายได้

คุณภาพน้ำดื่มจากเครื่องกรองน้ำที่เหมาะสมกับร่างกาย

มี ผู้ผลิตน้ำดื่มและเครื่องผลิตน้ำดื่มหลายชนิดในท้องตลาด อาทิเช่น น้ำดื่มที่ผ่านเครื่องกรองน้ำดื่ม น้ำดื่ม RO (Reverse Osmosis) น้ำแร่ และ น้ำ MRET เป็นต้น ซึ่งผู้ขายจะโฆษณาสรรพคุณเพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อ ซึ่งบางชนิดอาจมีคุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำบริโภค คุณภาพนํ้าที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค ควรเป็นนํ้าที่ปราศจากสี กลิ่น รส ความขุ่น สารพิษ เชื้อโรค และมีปริมาณเกลือแร่ที่พอเหมาะ ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจวิเคราะห์คุณภาพนํ้าในห้องปฏิบัติการ โดยต้องตรวจลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี สารพิษ และแบคทีเรีย ตามมาตรฐานคุณภาพนํ้าเพื่อบริโภค ซึ่งกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวตามมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่ม อาทิเช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (2524) เรื่อง นํ้าบริโภคในภาชนะที่ปิดสนิท และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (2521) เรื่องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนํ้าบริโภค เป็นต้น

 

ส่วนประกอบของเครื่องกรองน้ำดื่ม

เครื่องกรองน้ำแบบต่างๆ

เครื่องกรองน้ำดื่มที่ใช้กันทั่วไป เป็นเครื่องกรองน้ำที่ประกอบด้วยท่อโลหะ หรืออาจเป็นท่อที่ไม่ใช่โลหะ จำนวน 2 - 4 ท่อ แล้วแต่ผู้ผลิตจะออกแบบมาให้เหมาะสมกับการกรอง ภายในท่อจะบรรจุสารกรองชนิดต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการกรองน้ำให้เป็นน้ำดื่มตามลำดับ ดังนี้
1. สารกรองคาร์บอน (Activated carbon) สารกรองคาร์บอน คือ ผงถ่านสีดำที่มีความพรุน ทำหน้าที่กำจัดสี และกลิ่นของน้ำ ตลอดจนช่วยในการกรองตะกอนขนาดใหญ่ได้บางส่วน

Activated carbon

Resin

2. สารกรองเรซิ่น (Resin) สารกรองเรซิ่น ทำหน้าที่กำจัดค่าความกระด้างของน้ำที่เกิดจากสารประกอบของแคลเซียม แมกนีเซียม และอิออนบวกอื่นๆ ที่มีอยู่ในน้ำ โดยแคลเซียมอิออน (Ca2+) และแมกนีเซียมอิออน(Mg2+) เป็นสารที่มีอยู่ในน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และถ้ามีมาก จะมีผลทำให้น้ำนั้นมีความกระด้างสูง (ทำปฏิกิริยากับสบู่แล้วเกิดตะกอน ไม่เกิดฟอง ทำให้ใช้สบู่มากกว่าปกติ หรือ เกิดเป็นตะกรันติดภาชนะ เมื่อนำไปต้ม) การลดค่าความกระด้างของน้ำทำโดยการกรองน้ำผ่านสารกรองเรซิ่น สารเรซิ่นจะจับความกระด้างไว้ และมีผลทำให้ค่าความกระด้างลดลง ดังปฏิกิริยา ต่อไปนี้

Ceramic filter

Ultraviolet lamp

3. ไส้กรองเซรามิก (Ceramic filter) ทำหน้าที่กรองตะกอนละเอียด และ เชื้อโรค โดยไส้กรองที่มีความละเอียด 0.3 ไมครอน หรือละเอียดกว่านี้ จะสามารถกรองจุลินทรีย์ได้ดี ทำให้น้ำที่ผ่านออกมาสะอาดปราศจากจุลินทรีย์
4. หลอดอุลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet lamp) เป็นหลอดที่ให้แสงอุลตร้าไวโอเลต ทำหน้าที่ในการฆ่าจุลินทรีย์หรือเชื้อโรค อีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะนำมาดื่ม

บ้านกรองน้ำ

บ้านกรองน้ำ

เครื่องผลิตน้ำดื่ม

เครื่องผลิตน้ำดื่ม

เครื่องกรองน้ำดื่มชนิดที่ติดตั้งทั่วไปภายในโรงเรียนนายเรือ เป็นแบบที่มี 2 – 3 ท่อ ได้แก่ สารกรองคาร์บอน สารกรองเรซิ่น และไส้กรองเซรามิก เช่น บริเวณชั้น 1 อาคาร 10 มีครบทั้ง 3 ท่อ สำหรับเครื่องกรองน้ำดื่ม ที่ติดตั้งที่ หน้าห้องปฏิบัติการกองวิชาฟิสิกส์และเคมี อาคาร 6 หรืออีกหลายจุดภายในโรงเรียน เป็นชนิด 2 ท่อ ได้แก่ สารกรองคาร์บอน และ สารกรองเรซิ่น ยังขาดระบบกรองจุลินทรีย์ การบริโภคจึงต้องเชื่อมั่นในคุณภาพของน้ำประปาที่ส่งมาเข้าเครื่องกรอง และควรหมั่นทำความสะอาดสารกรองด้วยการล้างย้อนกลับระบบ ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป ในกรณีนี้ หากได้ติดตั้งไส้กรองเซรามิกเพิ่มเติมแล้วจะทำให้มีประสิทธิภาพในการกรองจุลินทรีย์ และให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วภายในโรงเรียนนายเรือ ยังมีเครื่องผลิตน้ำดื่มขนาดใหญ่ ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคยิ่งขึ้น ได้แก่ เครื่องผลิตน้ำดื่มโรงพยาบาลโรงเรียนนายเรือ และเครื่องผลิตน้ำดื่ม RO สโมสรสัญญาบัตร ซึ่งมีระบบที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเครื่องกรองน้ำดื่มที่ติดตั้งทั่วไปในโรงเรียน โดยมีระบบฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตร้าไวโอเลต และระบบ RO

 

ทำไมน้ำดื่มที่ผลิตได้จึงไม่สะอาดหรือบริสุทธิ์พอที่จะบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ในบางครั้งน้ำดื่มอาจมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ทางเคมี และทางจุลชีววิทยา ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สี ความขุ่น ค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณสารทั้งหมด ค่าความกระด้าง ปริมาณคลอไรด์ และมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร ปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ และแต่ละสาเหตุอาจมีความสัมพันธ์กัน ดังต่อไปนี้
1. น้ำที่นำมาเข้าเครื่องกรองน้ำดื่มมีคุณภาพไม่ดีพอ เช่น มีตะกอน มีค่าความกระด้างสูง มีคลอไรด์สูง มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ เนื่องจากได้รับการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนไม่เพียงพอ สำหรับโรงเรียนนายเรือ ใช้น้ำประปาจึงไม่น่าจะมีปัญหาในด้านคุณภาพน้ำก่อนเข้าเครื่องกรองน้ำดื่ม
2. ระบบเครื่องกรองน้ำไม่สามารถกรองน้ำให้มีคุณภาพดีพอ เนื่องจาก
2.1 ตัวระบบเองไม่ได้ติดตั้งระบบการแก้ปัญหาน้ำบางประเภทไว้ เช่น การที่มีปริมาณเหล็กในน้ำบาดาลสูง แล้วนำมาผ่านเครื่องกรองน้ำทั่วไปที่ไม่มีระบบกำจัดเหล็ก ก็จะไม่สามารถลดปริมาณเหล็กได้ หรือในกรณีของคลอไรด์ในน้ำของบางหน่วยที่ใกล้ทะเลจะมีความกร่อยหรือคลอไรด์สูงในบางห้วงเวลา เช่น ฤดูแล้ง และระบบผลิตน้ำดื่มที่ใช้อยู่ไม่มีระบบกำจัดคลอไรด์ ก็จะไม่สามารถลดปริมาณคลอไรด์ได้
2.2 ระบบเครื่องกรองน้ำดื่มไม่ได้รับการดูแลและบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบบ่อย ส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรนนิบัติบำรุงตามวงรอบอย่างสม่ำเสมอ ต้องเปลี่ยนสารกรองหรือไส้กรองที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
2.3 การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ไม่ถูกวิธี บ่อยครั้งที่ผู้เก็บตัวอย่างดำเนินการเก็บตัวอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ขวดที่เก็บตัวอย่างใช้ขวดสุรา ขวดน้ำหวาน โดยไม่ล้างทำความสะอาดให้เพียงพอ มีฝุ่นผงหรือสารตกค้างในขวด ไม่ได้ล้างขวดด้วยตัวอย่างน้ำก่อน ไม่ได้เปิดตัวอย่างน้ำที่ค้างในระบบทิ้งไปก่อนที่จะทำการเก็บนานพอ หรือ ในกรณีของการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางจุลชีววิทยา ไม่ได้ใช้ขวดที่อบฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ได้เก็บโดยวิธีไร้เชื้อ และนำส่งตัวอย่างโดยไม่ได้แช่เย็น เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้ตัวอย่างที่ส่งตรวจเป็นตัวอย่างที่ไม่ใช่ตัวแทนของตัวอย่างน้ำที่ผลิตได้จริง ทำให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดตามมาตรฐานฯ

 

การผลิตน้ำที่สะอาดและมีคุณภาพดีพอที่จะดื่มได้อย่างปลอดภัย

ก่อนอื่นต้องระลึกไว้เสมอว่า การตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำหรือการเปลี่ยนสารกรองไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่การตรวจวิเคราะห์น้ำทำเพื่อให้ทราบคุณภาพน้ำและเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา หน่วยหรือผู้ใช้จะต้องดูแลปรนนิบัติบำรุงเครื่องกรองน้ำของหน่วยเองเพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะดื่มได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก หากมีความเข้าใจ ในที่นี้จะขอกล่าวกว้างๆ ถึงปัจจัยที่จะทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะบริโภค ที่หน่วยทำได้ด้วยตนเอง
1. ใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี การเลือกน้ำที่มีคุณภาพดีมาผ่านเข้าระบบผลิตน้ำดื่ม ได้แก่ น้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตน้ำประปา หรืออาจใช้น้ำบาดาล เพื่อให้น้ำมีคุณลักษณะทางกายภาพ ทางเคมี และทางจุลชีววิทยา เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของน้ำที่ใช้สำหรับดื่ม (เกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มกระทรวงสาธารณสุข) หากใช้น้ำที่มีคุณภาพไม่ดีพอ เครื่องกรองน้ำจะต้องรับภาระหนักในการกรองมากกว่าที่ควรเป็น ทำให้มีอายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ และ บางครั้งไม่สามารถผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพดีพอที่จะดื่มได้ สำหรับในข้อนี้ โรงเรียนนายเรือ ใช้น้ำประปา ซึ่งนับเป็นแหล่งน้ำที่คุณภาพดี มาผลิตน้ำดื่ม
2. การใช้เครื่องกรองน้ำดื่มอย่างถูกต้องและทำการปรนนิบัติบำรุงอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องกรองน้ำดื่ม และทำให้ผู้ใช้ได้ดื่มน้ำที่มีคุณภาพที่ดี และสะอาด ในทางตรงกันข้ามหากผู้ใช้ไม่รู้และเข้าใจในการบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำดื่ม เครื่องกรองน้ำดื่มนั้นก็จะเป็นแหล่งที่สะสมตะกอน สิ่งเจือปนและเชื้อโรค อยู่ในเครื่องกรอง ทำให้ผู้ใช้ได้บริโภคน้ำที่มีคุณภาพไม่ดี และไม่สะอาด เพียงพอที่จะใช้ในการบริโภค

การปรนนิบัติบำรุงเครื่องกรองน้ำดื่มอย่างง่าย
การล้างเครื่องกรองน้ำดื่มเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ง่ายๆ และมีความคุ้มค่าที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพดี มั่นใจในการบริโภค สำหรับวิธีง่ายๆ ที่ได้เรียบเรียงไว้ดังต่อไปนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถขอคำแนะนำได้ที่ กองวิชาฟิสิกส์และเคมี ฯ โทร. 53929
1. การล้างสารกรองคาร์บอน การล้างสารกรองคาร์บอนทำได้โดยการล้างย้อนกลับระบบ (BACKWASH) โดยการปิดลิ้นทางเข้าของน้ำที่ใช้กรองตามปกติ แล้วเปิดลิ้นทางเข้าของน้ำให้ผ่านเข้าทางด้านล่างของท่อบรรจุสารกรองคาร์บอนแล้วปล่อยน้ำที่ล้างย้อนกลับนี้ไหลทิ้งไปจนกระทั่งได้น้ำใส ในโรงงานผลิตน้ำขนาดใหญ่ของหน่วย ที่มีการผลิตน้ำในปริมาณมาก อาจต้องล้างทุกวัน หรือ ล้างวันละ ๒ ครั้ง หากเป็นเครื่องกรองน้ำขนาดเล็กตามสำนักงาน โรงเรียน หรือที่พักอาศัย ควรทำการล้างประมาณ 1 ครั้ง ต่อ 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือน อัตรานี้ไม่ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพน้ำก่อนเข้าเครื่อง ปริมาณน้ำที่ผลิต และประสิทธิภาพของเครื่อง
2. การล้างสารกรองเรซิ่น การล้างคืนสภาพสารเรซิ่น เมื่อหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะสังเกตได้จากรสชาดของน้ำก่อนผ่านเครื่องกรอง และหลังผ่านเครื่องกรองมีรสคงเดิมไม่จืดสนิท หรือโดยการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หรือใช้ชุดตรวจภาคสนาม ซึ่ง กองวิชาฟิสิกส์และเคมีฯ สามารถสนับสนุนการตรวจฯได้ หากค่าความกระด้างเปรียบเทียบก่อน – หลังกรอง แล้วพบว่าค่าความกระด้างของน้ำก่อนและหลังผ่านกรองมีค่าใกล้เคียงกัน กล่าวคือไม่ลดลงหลังผ่านเครื่องกรอง จะต้องทำการล้างคืนสภาพสารเรซิ่น โดยการใช้น้ำเกลือเข้มข้น 20 % ซึ่งเตรียมได้ง่ายๆ ด้วยอัตราส่วน เกลือแกง 200 กรัม ผสมน้ำประปา 1 ลิตร แล้วนำมาเทให้ไหลผ่านสารกรองเรซิ่น แช่ทิ้งไว้ ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้น จึงปล่อยให้น้ำผ่านเครื่องกรอง เพื่อไล่น้ำเกลือที่ตกค้างออกจากเครื่อง จนกระทั่งน้ำที่ผ่านเครื่องกรองมีรสจืด ไม่มีความเค็มตกค้าง ในโรงงานผลิตน้ำขนาดใหญ่ของหน่วย ที่มีการผลิตน้ำในปริมาณมาก อาจต้องล้างทุกวัน หรือทุก 2 - 3 วัน หรือสัปดาห์ละครั้ง หากเป็นเครื่องกรองน้ำขนาดเล็กตามสำนักงาน โรงเรียนหรือที่พักอาศัย ควรทำการล้างประมาณ 1 ครั้งทุก 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน อัตรานี้ไม่ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพน้ำก่อนเข้าเครื่อง ปริมาณน้ำที่ผลิต และประสิทธิภาพของเครื่อง

3. การล้างไส้กรองเซรามิก เมื่อไส้กรองเซรามิกใช้กรองไปได้ระยะหนึ่งจะเกิดการอุดตัน ผู้ใช้จะต้องถอดไส้กรองเซรามิกออกมาทำความสะอาด โดยใช้ฟองน้ำ แปรงขนอ่อน หรือใยขัดที่ไม่มีความคมที่ใช้สำหรับใช้ขัดหม้อเคลือบเทฟลอน ขัดทำความสะอาดไปในทิศทางเดียวกัน ขณะขัดให้เปิดน้ำประปาไหลผ่าน ให้ขัดจนกระทั่งไส้กรองสะอาดไม่มีสิ่งสกปรกอุดตัน ในกรณีที่มีการปนเปื้อนของ จุลินทรีย์ในระบบกรองน้ำ ซึ่งทราบได้จากผลการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาในห้องปฏิบัติการ อาจนำไส้กรองเซรามิกไปต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วจึงนำเข้าไปติดตั้งในเครื่องกรอง แล้วจึงใช้กรองน้ำดื่มตามปกติ
4. การทำความสะอาดหลอดอุลตร้าไวโอเล็ต โดยปกติบริษัทผู้ขายจะออกแบบให้ทำความสะอาดหลอดอุลตร้าไวโอเล็ต โดยการดึงคันชัก เพื่อทำความสะอาดหลอดได้จากภายนอก และให้ทำการเปลี่ยนหลอดเมื่อครบชั่วโมงการใช้งาน หรือ เมื่อหลอดหมดอายุไม่สามารถผลิตแสงได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคที่ดี

 

ในการบำรุงรักษาข้างต้น ควรได้กำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติประจำ จัดทำตารางบันทึกข้อมูลการบำรุงรักษาต่างๆ ไว้ และเก็บรายงานผลการวิเคราะห์ไว้เพื่อทราบประสิทธิภาพของระบบกรองน้ำดื่ม

บทสรุป
เครื่องกรองน้ำดื่มที่ขายตามท้องตลาด ผู้ขายมักเสนอขายโดยใช้ข้อมูลประสิทธิภาพของเครื่องในการกรองน้ำดื่ม แต่หากสอบถามถึงการบำรุงรักษาต่างๆ จะมีน้อยรายนักที่สามารถให้ข้อมูลที่ดีแก่ผู้ซื้อ ในบางครั้งพบว่าผู้ขายแทบไม่มีความรู้เลยในการบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยผู้ซื้อมักตัดสินใจซื้อเนื่องจากต้องการนำมาใช้กรองน้ำให้มีคุณภาพดีใช้ดื่มได้อย่างสนิทใจ แต่หลังจากนำมาใช้มาแล้ว ส่วนใหญ่มักจะใช้งานอย่างเดียว ไม่ได้ทำการบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำดื่มเลย หรืออาจทำบ้างนานๆครั้ง ดังนั้น ประสิทธิภาพต่างๆในการกรองจะลดลง ไม่สามารถกรองน้ำดื่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ได้ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด หรือคุณภาพไม่ดีพอที่จะดื่มได้ นอกจากการบำรุงรักษาตามที่กล่าวมาแล้วผู้ใช้จะต้องทำการเปลี่ยนสารกรองคาร์บอน สารกรองเรซิ่น ไส้กรองเซรามิก และหลอดอุลตร้าไวโอเลต เมื่อครบอายุการใช้งาน หรือเมื่อหมดประสิทธิภาพ แม้ว่าจะได้ทำการล้างย้อนกลับ หรือทำการล้างคืนสภาพแล้ว อายุการใช้งานของสารกรองทั่วๆไป จะขึ้นกับคุณภาพน้ำที่นำมาผ่านเครื่องกรอง เช่น น้ำบาดาล หรือน้ำประปา ที่มีค่าความกระด้างมากจะทำให้สารเรซิ่นมีอายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ ต้องทำการล้างคืนสภาพบ่อยและมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าปกติ น้ำที่ ขุ่น มีสีและกลิ่น จะทำให้อายุการใช้งานของสารกรองคาร์บอน และไส้กรองเซรามิกสั้นกว่าปกติ แต่โดยปกติแล้วควรทำการเปลี่ยนสารกรองคาร์บอนทุก 2 ปี สารกรองเรซิ่น ทุก 3 ปี ไส้กรองเซรามิกทำการเปลี่ยนเมื่อชำรุดหรืออุดตันจนไม่สามารถกรองน้ำได้ หลอดอุลตร้าไวโอเลต ตามกำหนดอายุการใช้งาน ตามคู่มือเครื่อง